ปลาแม่น้ำไทย “ความสวยงามที่ไม่อาจมองข้าม” Episode II
By Timeforest
ปลาแม่น้ำกลุ่ม “ปลากลาง” จะเป็นกลุ่มปลาแม่น้ำที่มีน้ำหนักตัว ตั้งแต่ 1 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 10 กิโลกรัม ซึ่งปลาแม่น้ำไทยในส่วนนี้ที่ผู้เลี้ยงปลาสวยงามนิยมเลี้ยง ได้แก่ ปลาตะพัดเขียว ( ปลามังกรเขียว ) , ปลาเสือตอ (ทั้งลายเล็ก ลายใหญ่ และลายคู่ ) ,ปลากาดำ,ปลากระสูบขีด,ปลาบ้า(แซมบ้า),ปลากระเบนขาว เป็นต้น ..............มาว่ากันต่อเลยครับ เจ้าตัวแรก
http://th.wikipedia.org
ปลาตะพัดเขียว (มังกรเขียว) (Scleropages formosus) เป็นปลาโบราณ อีกหนึ่งชนิดที่ค่อนข้างจะไม่มีการเปลี่ยนรูปร่างไปจากอดีตที่ผ่านมาสักเท่าไร เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีหนวดที่ปลายปากล่างมีหนวด 1 คู่ ขนาดตัวใหญ่สุดที่พบ ประมาณ 7-8 กิโลกรัม พบมากในจังหวัด ภาคตะวันออก (จันทบุรี,ตราด) รวมไปถึงจังหวัด สุราษฎร์ธานี โดยปลาชนิดนี้นิยมเลี้ยงกันมาก เนื่องจากความเชื่อในเรื่องของความเป็นมงคล ถ้าหากได้เลี้ยงไว้ในบ้าน ซึ่งหากเป็นปลาชนิดนี้ที่พบในแหล่งน้ำของเพื่อนบ้านเราแถบอินโดนีเซียและมาเลเซีย จะมีความสวยงามมาก (อาทิเช่น ปลามังกรแดง,มังกรทอง) ในไทยปลาชนิดนี้ถือว่าเป็นปลาชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครอง และใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทยแล้ว แต่ก็ยังโชคดีที่สถานีประมงจังหวัดสุราษฎร์ สามารถทำการเพาะพันธุ์ได้แล้วครับ
ปลาเสือตอลายเล็ก www.nicaonline.com ปลาเสือตอลายใหญ่ www.nicaonline.comปลาเสือตอลายคู่ www.ninekaow.com
ปลาเสือตอ แบ่งได้ 2 ชนิด หลักที่พบในไทย คือ ปลาเสือตอลายเล็ก (Datnioides undecimradiatus) และปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher) ปลาเสือตอลายคู่คือความผิดปกติของปลาลายใหญ่ที่มีการผ่าเหล่าออกมา แต่ปลาเสือตออินโด (Datnioides microlepis) โดยมากจะมีลักษณะคล้ายเสือตอลายคู่บ้านเรา
ปลาเสือตอลายเล็ก ลายข้างตัวมีสีดำพาด 6 ลาย แถบดำมีขนาดเล็ก ลายดำที่พาดทับครีบว่ายน้ำจะสิ้นสุดที่ฐานครีบว่ายน้ำ ขนาดใหญ่สุด ประมาณ 30-40 เซนติเมตร หนักได้ถึง 6 กิโลกรัม ส่วนมากพบ ในแม่น้ำโขง เช่นแถบจังหวัดหนองคาย ปัจจุบันพบสถานะใกล้สูญพันธุ์
ปลาเสือตอลายใหญ่ จะมีลายดำพาดข้างตัว 6 ลาย ซึ่งมีแถบดำกว้างกว่าปลาลายเล็กมาก และลายดำที่พาดครีบว่ายน้ำจะพาดเลยจากฐานครีบว่ายน้ำลงไป ที่เคยพบหนักสุด 7 กิโลกรัม (ปลาที่มีลายดำพาดชนกันที่รอบคอโดยมากจะเรียกว่าปลาสร้อยเต็มซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดปลามาก) ในอดีต พบใน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ในภาคอีสานเช่น แม่น้ำโขง และสาขา รวมทั้งพบมาก แถบ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปแล้วเนื่องจากมีการจับไปกินและนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามกันมาก
ปลากาดำ www.siamfishing.com
เจ้าตัวนี้คือปลากาดำ (Epalzeorhynchos chrysophekadeon) (ก็ปลาที่ลงผิดเล่มที่แล้วไง 55) เป็นปลาอร่อยมาก เอ้ย เป็นปลาที่น่ารักอีกตัวหนึ่งพบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไปของไทยครับ ตัวของมันช่างดำสนิทได้ใจจริงๆ ขนาดที่พบใหญ่สุด จะยาวประมาณ 60 เซนติเมตร หนักได้ถึง 7 กิโลกรัม ที่สำคัญของปลาตัวนี้คือถ้าคิดจะเลี้ยงจะต้องระวังในเรื่องการกระโดดออกนอกตู้ โดดเก่งมากๆ กินอาหารไม่เลือกเลี้ยงง่ายครับผม
ปลา กระสูบขีด http://th.wikipedia.org
ตัวนี้คือปลากระสูบขีด (Hampala macrolepidota) ครับเป็นปลาพบมากแถบแม่น้ำโขงและแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่ที่พบหนัก 2-3 กก. และ ด้วยสีสันที่สวยงามและความปราดเปรียวที่มีทำให้เป็นปลาอีกชนิดที่เป็นขวัญใจคนชอบปลาแม่น้ำครับ (เป็นปลาโดดเก่งอีกตัว และยังมีอีกชนิดที่คล้ายๆกันคือกระสูบจุด มีความต่างกันที่ สีดำที่ข้างตัวจะเป็นจุดดำ
ปลาบ้า www.aqua4you.de
มาแว้ว ปลาบ้า หรือ แซมบ้า (Leptobarbus hoevenii) เป็นปลาที่มีลูกตาโต เกล็ดใหญ่ มีหนวดเล็กๆ 2 คู่ เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมเป็นฝูง พบมากแถบ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำโขง ในบางฤดูปลาตัวนี้จะกินลูกลำโพง ซึ่งทำให้มีการสะสมพิษในร่างกายทำให้ คนที่นำปลาชนิดนี้ไปทานในช่วงเวลานี้เกิดอาการมึนเมาได้ ครับ เลยเป็นที่มาของคำว่า “ปลาบ้า”
ปลากระเบนขาว http://th.wikipedia.org
แล้วก็มาถึงตัวสุดท้าย ปลากระเบนขาว (Himantura signifier) เจ้าตัวนี้เป็นปลากระเบนน้ำจืดไทย อีกชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม พบมากแถบที่ลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางประกง แม่น้ำท่าจีน รวมทั้งยังพบที่แม่น้ำตาปีด้วย ใหญ่สุดที่พบ วัดจากขอบจาน กว้างประมาณ 60 เซนติเมตร หางยาวมาก โดยที่โคนหางมีเงี่ยงพิษอยู่ ดังนั้นจะเลี้ยงต้องระวังให้มาก ปลาชนิดนี้ปัจจุบันมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ ส่วนการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ควรเลือกปลาที่แข็งแรง ขอบจานไม่มีรอยช้ำเลือดครับ
ปลากลางที่กล่าวไปข้างต้น เฉพาะปลาตะพัดเขียวและปลาเสือตอจัดว่าเป็นปลาที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีปลาตะพัดและปลาเสือตอไว้ในครอบครองจะต้องทำการขออนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง และจะต้องปฏิบัติตามกฎและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต หากผู้ใดมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิด โทษปรับไม่เกิน 40,000 บาทและจำคุกไม่เกิน 4 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีผู้ครอบครองปลาทั้งสองชนิดนี้มากมาย ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในความคิดเห็นของผู้เขียนคิดว่าควรเร่งหาวิธีการที่จะขยายพันธุ์ปลาเหล่านี้แทน ซึ่งจะเป็นการป้องกันการสูญพันธุ์และทำให้ไทยยังคงมีปลาแม่น้ำสวยงามเหล่านี้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมกันไปอีกนาน
อ่านบทต่อไป
webdesign in 20/11/2551 by Timeforest |