TIMEFORFISH
บ้านเรา ความรู้น่าสนใจ ซื้อขายแลกเปลี่ยน กระดานสนทนา สินค้าของเรา ติดต่อเรา

 

ปลาแม่น้ำ   “ความสวยงามที่ไม่อาจมองข้าม”
By  TIMEFOREST

 

ปลาแม่น้ำในที่นี้หมายถึงปลาที่อยู่อาศัยในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง    จากด้วยความโดดเด่นและลักษณะที่สวยงาม จึงทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงามบางส่วนให้ความสนใจกับปลากลุ่มนี้ ซึ่งขอกล่าว เกี่ยวกับปลาแม่น้ำโดยจะแบ่งออกเป็นกลุ่มตามน้ำหนักตัวดังนี้คือ 1.  กลุ่มปลายักษ์   ในที่นี้ขอให้คำนิยามกับคำว่าปลายักษ์ไว้ว่า หมายถึง “กลุ่มปลาที่เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักตัวมากกว่า 10 กก.ขึ้นไป โดยไม่คำนึงถึงความยาวหรือความกว้างของตัวปลา”    2. กลุ่มปลากลาง   หมายถึง  “กลุ่มปลาที่เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง 1 กก.แต่ไม่ถึง 10 กก.”      3.กลุ่มปลาเล็กและปลาจิ๋ว  หมายถึง  “กลุ่มปลาที่เมื่อโตเต็มที่ จะมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 1 กก.”      (แบ่งคล้ายๆกับ กีฬาชกมวย เลยนะนี่)    

ตัวอย่าง ปลาแม่น้ำที่อยู่ในกลุ่มปลายักษ์ ที่นักเลี้ยงปลาโดยทั่วไปให้ความนิยมกันมาก เช่น ปลากระโห้(กระโห้ไทยนะครับ)    ปลาเทพา  ปลาบึก  ปลาช่อนยักษ์อเมซอน ปลากระเบนยักษ์เจ้าพระยา เป็นต้น

ปลาในรูปเจ้าตัวใหญ่คือปลาบึก (Pangasianodon gigas)  max size 3 เมตร  หนัก มากกว่า 200 กิโลกรัม  สถานะในปัจจุบันในแหล่งน้ำทั่วไปถือว่าต้องอนุรักษ์ครับเพราะหาได้ยากเต็มทีในแหล่งน้ำธรรมชาติปัจจุบันที่เห็นๆอยู่ก็จะเป็นปลาที่มาจากการผสมเทียมของฟาร์มเอกชน  แต่บางครั้งผู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาบึกแท้อาจเจอกับปลาปลาบึกเทียมได้(ปลาเผาะ) ซึ่งช่วงตอนเล็กๆมีความคล้ายกันมาก แต่พอเลี้ยงไปแล้วกลับโตช้าและมีขนาดไม่ใหญ่(ผู้เขียนเคยไปซื้อปลาบึกที่ตลาดจตุจักรเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีขนาดอยู่ที่ 8 กิโลกรัมและมันก็คือปลาเผาะนั้นเอง)     

         

 
         

ส่วนเจ้าตัวนี้คือปลาเทพา(Pangasius sanitwongsei)  ครับ ขนาดก็น้องๆปลาบึก คือ ใหญ่ได้ถึง 2.5 เมตร แต่ก็มีบางแหล่งบอกว่าถึง 3 เมตร แต่น้ำหนักจะเบากว่าปลาบึกนะครับ อยู่ที่ 100 – 200 กิโลกรัม  ปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดปลาสวยงามของต่างประเทศมากครับในแต่ละปีจะมีการส่งออกไปต่างประเทศมากกว่า 1 แสนตัว (ปลาที่ส่งออกโดยมากจะเป็นปลาที่เพาะได้จากฟาร์มเอกชน)  สถานะปัจจุบันในแหล่งน้ำธรรมชาติถือว่าพบน้อยมากในแม่น้ำโขง และ สูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา   ซึ่งปกติจะพบปลาชนิดนี้ได้ที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำเจ้าพระยา

  

ส่วนเจ้าตัวนี้คือปลากระโห้(Catlocarpio siamensis) สงสัยคำว่าหน้ากระโห้ก็คงมาจากเจ้าตัวนี้แหงม  ขนาดของ ปลากระโห้ที่เคยมีบันทึกไว้คือ ใหญ่สุด 3 เมตร หนักมากกว่า 150 กิโลกรัมครับ  ปัจจุบันพบได้น้อยมากตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และถือว่าเป็นปลาแม่น้ำไทยอีกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติเต็มที ส่วนลูกปลากระโห้ที่นักเลี้ยงปลาสวยงามนำไปเลี้ยงนั้นเกิดจากการผสมเทียมและเพาะพันธุ์โดยฟาร์มเอกชนครับ

  

และก็มาถึงสุดยอดปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกครับ  กระบนยักษ์เจ้าพระยา หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่ากระเบนราหู ( Himantura chaophraya ) เจ้าตัวนี้ถือว่าเป็น ยักษ์ใหญ่ของจริงครับ ขนาดก็.... อืมกว้างได้ถึง 2.5-3 เมตร หนักสุดที่เคยบันทึกมาคือ  600 กิโลกรัม  ในไทยพบได้ตาม แม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำแม่กลอง
บางปะกง แม่น้ำโขง  แต่ปัจจุบัน ถือว่าใกล้สูญพันธุ์เต็มที มีการจับกันมากและความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำรวมไปถึงยังไม่พบรายงานว่าสามารถเพาะและขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้โดยหน่วยงานราชการหรือเอกชน  ดังนั้นจึงหน้าเป็นห่วงอย่างมาก

         

ตัวสุดท้ายคือ ปลาช่อนยักษ์อเมซอน(Arapaima gigas)เจ้าตัวนี้มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศ บราซิล  ขนาดใหญ่สุดที่มีการบันทึกคือ ยาว  4 .5 เมตร หนัก มากกว่า 400 กิโลกรัม (เป็นปลาเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก)
ปัจจุบันทางประเทศบราซิลมีรายงานว่า ปลาชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการจับไปกิน และนำมาขายเป็นปลาสวยงาม

 

              ตัวอย่างปลาที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง ของปลาแม่น้ำไทยและต่างประเทศในกลุ่มปลายักษ์ที่คนทั่วไปนิยมนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม  แต่ยังมีอีกหลายชนิดที่ไม่ได้กล่าวถึง เนื่องจากมีหลายชนิดมาก   โดยปลาในกลุ่มนี้ส่วนมากตอนเริ่มเลี้ยงก็จะสามารถเลี้ยงในในตู้ปลาหรืออ่างหน้าบ้านทั่วไปได้ แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่และการเติบโตที่รวดเร็วจึงทำให้เจ้าของปลาบางส่วนไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ จึงทำการปล่อยปลา(ทำบุญหรือป่าว?) ในแหล่งน้ำต่างๆ แต่หากเจ้าของมีที่ทางหรือมีบ่อขนาดใหญ่ที่จะรองรับเจ้าพวกนี้ได้ก็จะเป็นการต่อเวลาที่เจ้าของปลาจะได้อยู่กับเจ้าปลายักษ์ที่เลี้ยงต่อไป  ดังนั้นหากท่านผู้อ่าน  ต้องการเลี้ยงปลาแม่น้ำที่อยู่ในกลุ่มปลายักษ์จริงๆ สิ่งจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงคือ 1. อนาคตของปลาตัวนั้นๆที่เรานำมาเลี้ยงว่าจะทำอย่างไรต่อไป หากมันมีขนาดใหญ่เกินกว่าตู้ปลาใหญ่ๆทั่วๆไปจะรองรับได้    2. ค่าอาหารปลาที่จะสูงมากขึ้นเมื่อมันมีขนาดใหญ่ขึ้น   3. การขนย้าย  จะทำอย่างไรหากต้องมีการเปลี่ยนที่อยู่ของปลา (ขนย้ายปลาใหญ่ไม่เป็น อาจเสี่ยงทำให้ปลาตายได้)     ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีกำลังที่จะสามารถเลี้ยงปลายักษ์เหล่านี้ได้  สิ่งที่จะได้รับก็คือความสุขทางใจท่านจะได้จากเจ้ายักษ์ใหญ่ไม่ว่า จะเป็นความเชื่องของปลา(มีให้เห็นแล้วเช่น ปลากระโห้ที่แม่น้ำ แม่กลอง ที่ขึ้นมากินขนมจีนจากมือ   หรือ  กระเบนยักษ์เจ้าพระยาที่ว่ายเข้ามา ให้ลูบหลังได้ง่ายๆ )  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถึงแม้ว่าเจ้ายักษ์ใหญ่พวกนี้จะเป็นแค่เพียงสัตว์น้ำ แต่ด้วยอายุที่คาดว่ายืนยาวกว่าปลาทั่วๆไป บางชนิด อายุ ยืนกว่า 100  ปี    (แต่ที่อายุยืนสุดที่บันทึกไว้คือปลาคราฟที่ญี่ปุ่นครับ ทราบมาว่า อายุ 226 ปี !!!!!!! ทำไปได้)    ดังนั้นด้วยอายุที่ยืนยาวของปลาจึงเป็นสิ่งที่ช่วยในการสร้างการเรียนรู้ของปลาตัวนั้นๆว่าผู้เลี้ยงไม่มีอันตรายกับมันและเป็นมิตรกับมันด้วย  รวมไปถึงความสุขผู้เลี้ยงจะได้รับจากปลาใหญ่เหล่านั้น เสมือน  เพื่อนรู้ใจที่จะอยู่ข้างกายท่านไปนานตราบจนกว่าจะตายจากกันไป(ว่าไปนั้น)   
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก http://th.wikipedia.org ครับผม    

อ่านบทต่อไป

 

 

 

 

webdesign in 20/11/2551 by Timeforest