ปัญหาที่พบระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำ
สิ่งที่ผู้เลี้ยงทั่วไปไม่ต้องการเจอก็คือปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำสวยงามหรือสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากเราเข้าใจถึงปัญหาแล้วก็จะทำให้สามารถหาแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องได้มากยิ่งขึ้น โดยมากแล้วปัญหาที่พบนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
ปัญหาที่เกิดจากน้ำ
ปัญหาอ๊อกซิเจนไม่พอกับสัตว์น้ำ
ปัญหาน้ำเขียวในตู้
ปัญหาน้ำขุ่น
ปัญหาน้ำเสีย
ปัญหาน้ำอ่อน(pH ต่ำ)
ปัญหาน้ำกระด้าง (pH สูงและอัลคาไลนิตี้สูง)
ปัญหาที่เกิดจากสัตว์น้ำ
ป่วยจากติดเชื้อแบคทีเรีย
ป่วยจากพยาธิหรือพาราสิต
ป่วยจากเชื้อรา
ป่วยจากไวรัส
สัตว์น้ำบาดเจ็บ จากการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำ
ปัญหาที่เกิดจากตู้หรือบ่อรวมทั้งอุปกรณ์
ตู้หรืออ่างรั่วซึม
ปั้มน้ำหรือปั้มลมไม่ทำงาน
ไฟรั่วที่พบจากอุปกรณ์
ปัญหาปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอกับสัตว์น้ำ(อาการสัตว์น้ำฮุบอากาศที่ผิวน้ำ)
สาเหตุ
1. จากสัตว์น้ำที่เลี้ยงมีปริมาณมากเกินไป ทำให้มีการดึงอ๊อกซิเจนในน้ำไปใช้มากเกินกว่าปริมาณจะทดแทนกลับในน้ำ
2. จากของเสียในน้ำที่ถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายมีมากทำให้อ๊อกซิเจนถูกดึงไปใช้สูง
3. จากอุณหภูมิน้ำที่สูงเกินไป(ปริมาณอ๊อกซิเจนละลายในน้ำได้ลดลงที่อุณหภูมิสูงขึ้น)
4. จากอุปกรณ์เพิ่มอากาศในน้ำมีไม่เพียงพอหรือเสื่อมสภาพ(เช่นปั้มลมที่ลูกยางเสื่อม)
5. ไฟฟ้าดับทำให้อุปกรณ์เพิ่มปริมาณอากาศในน้ำไม่สามารถทำงานได้
แนวทางป้องกันและแก้ไข
-
ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์น้ำนั้นๆว่าเป็นสัตว์น้ำที่ต้องการปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำมากน้อยเท่าไร หากเป็นสัตว์น้ำที่ต้องการปริมาณอ๊อกซิเจนสูงก็ควรเลี้ยงจำนวนน้อยอยู่ในพื้นที่กว้างอุปกรณ์เพิ่มอากาศมีอย่างพอเพียงครับ
-
หากพบว่าเกิดจากของเสียในน้ำมีมาก สังเกตได้จากกลิ่นของน้ำที่มีกลิ่นเหม็นเน่า ควรเปลี่ยนน้ำทันที แต่จริงๆแล้วไม่ควรปล่อยให้น้ำเน่าเสียจนถึงระดับนี้เพราะหากถึงระดับนี้ปลาส่วนมากก็ไม่น่าจะอยู่รอดได้ครับ(ป้องกันการเกิดของเสียโดย ให้อาหารปลาในปริมาณที่พอเหมาะไม่มากเกินไป ซึ่งปกติให้เพียง 2 มื้อต่อวันคือเช้า และเย็น ครับ )
-
ในด้านอุณหภูมิน้ำควรเลี้ยงปลาหากเป็นตู้ควรหลีกเลี่ยงในการโดนแสงแดงโดยตรง ส่วนในบ่อปลาคราฟนั้นควรอยู่กลางแจ้งเนื่องจากระบบน้ำในบ่อปลาคราฟโดยส่วนมากในปัจจุบันสามารถจัดการในเรื่องอุณหภูมิน้ำได้ดีอยู่แล้วครับ
-
ตรงส่วนนี้หากทราบว่าระบบการให้อากาศมีปัญหาโดยสังเกตจากปริมาณลมที่ออกจากอุปกรณ์น้อยลง หรือปั้มน้ำ ปั้มน้ำได้ในปริมาณที่น้อยลง ก็ควรจัดการแก้ปัญหาโดยด่วนอาจจะหาปั้มน้ำหรือปั้มลมตัวใหม่มาใช้ทดแทนตัวเก่าหรือหาอุปกรณ์เพิ่มอากาศมาติดตั้งให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
-
ปัญหาปริมาณอากาศไม่พอเพียงเนื่องจากไฟฟ้าดับ ในส่วนนี้แนวทางป้องกันและแก้ไขคือจัดหาอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าสำรองให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าของบ่อปลาสวยงามครับ เช่นใช้ UPS ของคอมพิวเตอร์ โดยควรคำนวณให้สามารถจ่ายไฟฟ้าทดแทนช่วงไฟฟ้าดับได้นานอย่างน้อย 3-6 ชม ครับ (ป้องกันได้ดีที่สุด)แต่หากไม่สามารถจัดหาได้ให้ใช้ปั้มลมชนิดใช้ถ่านไฟฉายเป็นพลังงาน ทดแทนไปก่อนซึ่งสามารถใช้ได้นาน 12 ชม ขั้นต่ำแต่อาจจะให้ปริมาณอากาศไม่เพียงพอต่อความต้องการของตู้ครับให้ระวัง อีกวิธีหนึ่งคือใช้การแก้ปัญหาล่วงหน้าคือ ใช้อ๊อกซิเจนผง ครับ อันนี้จะสามารถใช้ได้เมื่อท่านอยู่บ้านเท่านั้น ที่สำคัญควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไปเนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบแลกเปลี่ยนก๊าซของสัตว์น้ำนั้นๆและอาจทำให้สัตว์น้ำนั้นตายได้ (อ๊อกซิเจนมากเกินจนเป็นพิษ)
ปัญหาน้ำเขียวในตู้
สาเหตุ
จากปริมาณสารอินทรีย์ที่มีมากอยู่ในมวลน้ำ โดยเฉพาะสารอินทรีย์ในกลุ่มของธาตุหลัก ไนโตรเจน อาทิเช่น ไนเตรท ซึ่งเป็นอาหารที่ดีสำหรับพืชน้ำเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายน้ำก็เลยเขียวเร็วครับ
แนวทางป้องกันและแก้ไข
หากจะป้องกันไม่ให้น้ำเขียวอย่างรวดเร็วนั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษาในด้านการจัดการระบบกรองน้ำโดยอาศัยชีวบำบัด โดยเฉพาะจุลินทรีย์ในกลุ่มไนตริฟลายอิ่งแบคทีเรีย กลุ่มไนโตรโซโมแนส(Nitrosomonas sp.) และกลุ่มไนโตรแบคเตอร์ (Nitrobactor sp.)เข้ามาช่วยบำบัดให้ แอมโมเนีย ของเสียที่สัตว์น้ำขับถ่าย (NH3) มีพิษต่อสัตว์น้ำมากสุด เปลี่ยนรูป เป็น ไนไตรท์ (NO2-) มีพิษต่อสัตว์น้ำลดลง ให้เป็น ไนเตรท (NO3-) มีพิษต่อสัตว์น้ำน้อยสุด และสุกท้าย ต้องมีจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ไม่ใช้อ๊อกซิเจน(Anaerobic bacteria) เข้ามาช่วยกำจัดไนไตรท์ให้เป็น ก๊าซไนโตรเจน (N2) และปลดปล่อยกลับไปสู่บรรยากาศต่อไปครับ ดังนั้นหากต้องการใช้วิธีชีวบำบัดนี้จำเป็นที่จะต้องจัดการระบบกรองให้ดีโดยจัดให้มีวัสดุที่มีพื้นผิวพอเพียงในช่องกรอง เช่นเปลือกหอยกาบ หินภูเขาไฟที่มีรูพรุน รวมไปถึง ไบโอบอล ให้จุลินทรีย์เกาะและทำหน้าที่บำบัดของเสียได้ดีที่สุดและที่สำคัญหากใช้ระบบกรองชีวภาพและต้องระวังการใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์น้ำด้วยครับเพราะส่งผลทำให้จุลินทรีย์ตายได้ ครับ ดังนั้นการป้องกันน้ำเขียวจึงควรจัดการระบบกรองให้ดีรวมทั้งการวางตู้ให้ได้รับแสงที่ไม่มากเกินไปในรอบวัน ซึ่งหากเซ็ตระบบกรองได้สมบูรณ์และจัดการเรื่องแสงได้ดีแล้วปัญหาน้ำเขียวก็จะหมดไปครับ (ในที่นี้ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีทำลายแพลงค์ตอนพืชนะครับเพราะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สัตว์น้ำป่วยได้)
ปัญหาน้ำขุ่น
สาเหตุ
1. จากการใช้น้ำบาดาลที่มีตะกอนในน้ำสูงและไม่ได้ผ่านการตกตะกอนมาก่อน
2. จากการที่สัตว์น้ำได้รับน้ำใหม่จึงมีการปล่อยน้ำเชื้อและวางไข่ซึ่งทำให้น้ำขุ่นได้
3.ปัญหาจากตะกอนของเสียที่ไม่ไหลเข้าระบบกรอง รวมไปถึงระบบกรองมีปัญหาเช่นใยกรองเสื่อมสภาพเป็นต้น
แนวทางแก้ไข
1.ควรมีการพักน้ำที่นำมาใช้ก่อนโดยเฉพาะน้ำบาดาลเพื่อให้น้ำตกตะกอนก่อนแล้วจึงสูบหรือใช้ปั้มน้ำปั้มน้ำเข้าสู่พื้นที่เลี้ยง
2.หากพบว่าสัตว์น้ำมีการผสมพันธุ์และวางไข่ สังเกตจากสีของน้ำที่ออกเป็นขุ่นขาว รวมทั้งที่ก้นตู้อาจพบไข่ของสัตว์น้ำ สิ่งที่ทำได้คือเปลี่ยนน้ำใหม่หลังจากสัตว์น้ำนั้นวางไข่หรือปล่อยน้ำเชื้อไปแล้ว 1 วันครับ โดยเปลี่ยน 50 % จากนั้นอีก 2 วันเปลี่ยนน้ำอีก 50 %ครับ (ทั้งนี้เพื่อให้แต่ล่ะตัวในตู้ทำกิจของตัวมันเองให้หมดก่อนแล้วจึงเปลี่ยนน้ำใหม่)
3.ปัญหาด้านตะกอนของเสียไม่ไหลเข้าสู่ระบบกรองอันนี้ต้องลองเช็คว่าช่องทางที่น้ำจะไหลเข้าสู่ระบบกรองมีสิ่งใดอุดตันอยู่หรือไม่ครับ ส่วนในด้านใยกรองนั้นปกติควรเปลี่ยนทุก15 วันต่อครั้งครับอย่าประหยัดมากไปไม่งั้นสิ่งที่ตามมากคือปัญหาด้านสุขภาพสัตว์น้ำครับ
ปัญหาน้ำเสีย
สาเหตุ
เกิดจากของเสียในน้ำที่สัตว์น้ำอาศัยอยู่มีสูงมาก รวมไปถึงระบบลมไม่พอเพียงจึงทำให้ระบบการบำบัดน้ำทำงานได้ไม่ดี สุดท้ายสาเหตุจากมีสัตว์น้ำอื่นในพื้นที่เลี้ยงตายส่งผลให้น้ำเน่าเสีย
แนวทางป้องกันและแก้ไข
1. จัดการด้านการให้อาหารสัตว์น้ำให้ดี ไม่ให้มากเกินไป
2. จัดการเช็คระบบให้อากาศให้พอเพียง หาเพิ่มหากไม่พอ
3. เช็คระบบกรองว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ หากพบปัญหาเช่นกรองตัน ก็ให้จัดการให้เรียบร้อย
4. หากพบว่ามีสัตว์น้ำตายในตู้ให้รีบจัดการนำออกทันที
5.สุดท้ายหากพบว่าน้ำเสียให้เปลี่ยนน้ำทันที 90% และใส่เกลือร่วมด้วยที่ 50 กรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร(เว้นแต่หากปลาที่เลี้ยงเป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มปลาหมูให้งดใส่เกลือเด็ดขาด)
ปัญหาน้ำอ่อน(pH ต่ำ)
สาเหตุ
เกิดจากการรับน้ำฝนที่เป็นฝนกรดซึ่งโดยมากพบในบ่อเลี้ยงหรืออ่างเลี้ยงปลาที่อยู่บริเวณกลางแจ้ง ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำตายได้หากมีการเปลี่ยนแปลงของค่า pH ไปอย่างรวดเร็ว
แนวทางป้องกันและแก้ไข
-
สร้างหลังคาใสคลุมไม่ให้บ่อได้รับน้ำฝนโดยตรง (อันนี้ลงทุนสูงหน่อยแต่ก็เหมาะกับบ่อปลาคราฟ ที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งเป็นเขตมลภาวะสูง ครับ)
-
ทำท่อน้ำล้นเพื่อให้ระดับน้ำคงที่และให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลล้นออกไป
-
หากพบว่าระดับpH ต่ำ ให้แก้ไขโดยใช้น้ำปูนใสที่ได้จากการละลายของปูนโดโลไมท์แล้วปล่อยให้ตกตะกอน ก่อนใส่ลงในบ่อ ส่วนในด้านปริมาณนั้นต้องค่อยๆใส่ทีละน้อย โดยปรับให้ค่า pHค่อยๆขึ้น .5 ต่อ 2 ชม. จนได้ระดับ pHที่ปกติคือ 7.5-8.0 (แต่ทั้งนี้ต้องระมัดระวังปริมาณแอมโมเนียในน้ำด้วยว่ามีสูงหรือไม่เพราะมันจะมีพิษสูงมากขึ้นหาก pH สูงครับ)
ปัญหาน้ำกระด้าง (pH สูงและอัลคาไลนิตี้สูง)
สาเหตุ
จากการใช้น้ำบาดาลโดยตรง ซึ่งปกติบางที่อาจมีค่าpHสูงกว่า 9 ไปจนถึง 9.8 ซึ่งpH ในระดับนี้จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำโดยทำให้อัตราการเติบโตต่ำลงอย่างมากครับ และส่งผลต่อความเป็นพิษของแอมโมเนียให้มีมากขึ้นอีก
แนวทางป้องกันและแก้ไข
-
ป้องกันโดยก่อนนำน้ำบาดาลมาใช้ให้ทำการพักน้ำไว้ก่อนและให้อากาศในน้ำประมาณ 2-3 วัน จนค่า pH ลดลงในระดับปกติ (ไม่เกิน 8.3) แล้วจึงนำน้ำมาใช้
-
หากจำเป็นต้องใช้น้ำอย่างเร่งด่วน ให้ใช้ โซเดียมไทโอซัลเฟต ผสมลงไปด้วยในอัตรา โซเดียมไทโอซัลเฟต 10 กรัม/น้ำ 50 ลิตร เพื่อช่วยลดpH
-
จัดตู้ให้มีส่วนของการบำบัดชีวภาพเพื่อช่วยลด pH อีกทาง
ปัญหาที่เกิดจากสัตว์น้ำ
สัตว์น้ำป่วย การเจ็บป่วยของสัตว์น้ำนั้นมีได้หลายกรณี บางครั้งเจ็บป่วยเนื่องการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งเจ็บป่วยเนื่องจากการเน่าเสียของน้ำ บางครั้งเจ็บป่วยเนื่องจากได้รับพาราสิตภายนอกและภายในมาจากสัตว์น้ำอื่นเป็นต้น ดังนั้นหากพบอาการของสัตว์น้ำดังนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าป่วย เช่น ไม่กินอาหาร ว่ายน้ำผิดปกติ ผิวหรือเกล็ดมีจ้ำเลือด ตามตัวมีหูดหรือก้อนเนื้อขึ้น มีแผลตามตัว ขี้มีลักษณะเป็นวุ้นขาว อาการบวมน้ำ เกล็ดพอง เป็นต้น ซึ่งจากที่กล่าวมาก็มีสาเหตุแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการได้รับเชื้อโรคหรือพาหะนำโรคชนิดไหนครับ
|