นิยามปลาโหด PART II
By Timeforest
หลังจากที่มีการแนะนำปลาโหดๆในตอนที่แล้วกันไป 2 ชนิดแล้ว ตอนนี้เราจะมาติดตามปลาโหดชนิดอื่นที่น่าสนใจกันต่อเลยครับ
โกไลแอต (Giant tigerfish)
ชื่อสามัญ Giant tigerfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocynus goliath
ถิ่นอาศัย อยู่อาศัยในแหล่งน้ำทวีปแอฟริกา อาทิเช่น ทะเลสาบแทนกายิกา แม่น้ำคองโก
ขนาดโตเต็มที่ ที่มีการบันทึก 1.8 เมตร หนักสุดที่มีการบันทึก 57 กก.
สถานะ ปกติ (ยังคงมีการแพร่กระจายปกติ ไม่อยู่ในสถานะที่น่ากังวลว่าจะลดลง)
ในไทยมีการนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยในรูปแบบของปลาสวยงาม มามากกว่า 10 ปีแล้ว แต่จะเป็นที่รู้จักเฉพาะในกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงปลาแปลก และ ปลาโหด สิ่งที่เป็นที่ดึงดูดใจของนักเลี้ยงคือ ลักษณะของการโจมตีเหยื่ออย่างรวดเร็ว และเขี้ยวที่มีลักษณะใหญ่จนเห็นได้ชัดเจน แต่เจ้าปลาตัวนี้ไม่ใช่ปลาที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวในแม่น้ำนะครับ มันเป็นปลาที่มีการรวมกลุ่มเป็นฝูง หลายตัวด้วยกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรอดชีวิตจากนักล่าที่ใหญ่กว่า รวมไปถึงเป็นประโยชน์ต่อการช่วยกันหาอาหาร (รุมเหยื่อนั้นเอง) แต่ไม่มีรายงานใดๆว่ามีการทำร้ายมนุษย์นะครับ แต่ส่วนมากมนุษย์ที่ไปจับมันจับพลาดหรือไม่ระวังจึงโดนกัดนั้นเอง ส่วนญาติๆของเจ้าโกไลแอต นี่ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันและมีลักษณะคล้ายๆกันมีอยู่อีก 4 ชนิด และกระจายตัวอยู่ในแอฟริกาเหมือนๆกันครับ แต่ตัวที่ทำให้สับสนสำหรับนักเลี้ยงมือใหม่คือ Hydrocynus vittatus ที่เมื่อยังเล็กนั้นคล้ายกับโกไลแอตมากแต่เมื่อโตขึ้นจะต่างกันพอสมควรไม่ว่าขนาดโตเต็มที่ที่เล็กกว่าและลักษณะ อื่นๆ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรถามคนขายให้แน่ใจก่อนที่จะซื้อนะครับ และสำหรับผู้สนใจเลี้ยงโกไลแอตแนะนำว่าต้องมีตู้ขนาดใหญ่พอควรเพื่อให้มันว่ายน้ำได้อย่าสะดวกเพราะเป็นปลาที่ไม่ค่อยว่ายนิ่งกับที่ครับ ส่วนอาหารที่ใช้ควรเป็นเหยื่อสดแต่อาจฝึกให้กินอาหารตายอาทิเช่นเนื่อกุ้งหรื่อเนื่อปลาอื่นๆได้ครับ ที่สำคัญโปรดระวังในการเคลื่อนย้ายปลาโดยเฉพาะให้ระวังเขี้ยวของมันก่อนนะครับไม่งั้นหากสะบัดถูกมือคุณเข้าล่ะก็โอ้ยๆๆ แน่ครับผม สยอง
ปลาไหลไฟฟ้า (Electric eel)
ชื่อสามัญ Electric eel
ชื่อวิทยาศาสตร์ Electrophorus electricus
ถิ่นอาศัย อาศัยในลุ่มน้ำแถบอเมริกาใต้ อาทิ แม่น้ำอเมซอน
ขนาดโตเต็มที่ ยาวได้ถึง 2.5 เมตร
สถานะ ปกติ
ว่ากันด้วยปลาที่ดูรูปร่างภายนอกโหดแล้วมาลองดูปลาที่โดยแบบมองไม่เห็นว่าโหดตรงไหน ผ่านปลาโหดที่มองดูก็รู้ว่าโหดมาหลายชนิดแล้วก็มาลองดูปลาที่โหดแบบที่มองไม่เห็นบ้างครับ ปลาไหลไฟฟ้า หรือ Electric eel มันโหดตรงไหน คงไม่ต้องบรรยายมากครับ เจ้าตัวนี้ จะว่าแล้วถ้าเจอกับตัวก่อนๆที่กล่าวไปแล้ว ไม่มีแพ้ครับเพราะอะไรก็เพราะ ปลาชนิดนี้เป็นปลาหรือสัตว์ที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้สูงที่สุดในโลก ในปลาที่มีขนาดเล็กสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ในระดับ 100 โวลต์ แต่กับปลาที่โตเต็มที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้สูงมากถึง 650 โวลต์ (จากข้อมูลที่มีคนเคยบันทึกมาครับ ทำให้คนหัวใจวายตายได้เลย) กระแสไฟฟ้ามีประโยชน์อย่างไรกับมัน ที่ว่ากันจริงๆแล้วในธรรมชาติมันใช้กระแสไฟฟ้าในการหาอาหาร โดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อช๊อตเหยื่อให้สลบ แล้วจึงจับกิน แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ใช้กระแสไฟฟ้าในการป้องกันตัวเองจากนักล่าที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะมนุษย์ ซึ่งว่ากันว่าชาวประมงที่ทำการประมงในลุ่มน้ำอเมซอนที่เจ้าปลาชนิดนี้อยู่บางคนถึงกับต้องสะดุ้งเมื่อดันไปจับปลาไหลไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงเป็นปลาที่ชาวประมงไม่อยากจะยุ่งด้วยเลยจริงๆนะในประเทศไทยไม่มีกฎหมายใดที่ระบุห้ามหรือมิให้เลี้ยง นำเข้าหรือครอบครองแต่กรมประมงก็ได้มีประกาศเกี่ยวกับอันตรายของปลาชนิดนี้ ดังนั้นการที่ผู้อ่านท่านใดสนใจที่จะเลี้ยงสำคัญมากและที่ควรรู้คืองดการใช้มือหรือส่วนใดๆของร่างกายในการสัมผัสกับ ปลาไหลไฟฟ้าโดยตรง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้เพราะปลามันไม่รู้หรอกครับว่าคุณจะหวังดีหรือหวังร้าย มันรู้แต่ถูกจับต้องป้องกันตัว แล้วก็.........สะดุ้งไงครับ
วูลฟ์ฟิช
ชื่อสามัญ Aimara (โดยทั่วไปเรียก Wolf fish)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hoplias aimara
ถิ่นอาศัย อาศัยในลุ่มน้ำแถบอเมริกาใต้ อาทิ แม่น้ำอเมซอน
ขนาดโตเต็มที่ ยาวได้ถึง 1 เมตร
สถานะ ปกติ
ตัวสุดท้าย ตัวนี้เป็นในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า วูลฟ์ฟิช อันนี้ ต่างกับ วูลฟ์ฟิช ที่เป็นปลาทะเลนะครับเพราะเจ้าตัวนี้เป็นปลาน้ำจืด พบทั่วไปแถบลุ่มน้ำอเมซอน (แม่น้ำสายนี้มีสัตว์ประหลาดเยอะมากครับ) ปลาในกลุ่มนี้มีหลายชนิดมีความแตกต่างกันในลักษณะทางกายภาพอาทิเช่นก้านครีบหลัง หรือลักษณะแผ่นปิดเหงือก ที่นำเข้ามาขายในไทยก็มีหลากหลายต่างกันไป ส่วนมากที่พบในตลาดปลาสวยงามก็มี Hoplias aimara, Hoplias malabaricus, Hoplias microlepis ความนิยมเลี้ยงก็จะอยู่ในกลุ่มผู้นิยมปลาแปลกๆครับ แต่ยังไงก็แล้วแต่เจ้าตัวนี้เป็นปลาที่ดุมากพอสมควร ดังนั้นการเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นควรมีการคิดให้ดีก่อนครับไม่งั้นมันอาจเอาเพื่อร่วมตู้มาเป็นอาหารเย็นก็ได้ ส่วนตู้ที่ใช้ควรมีความหนาในระดับหนึ่งในกรณีที่ปลาใหญ่กว่า 50 cm. เนื่องจากเป็นปลาที่แข็งแรงมากดิ้นหรือตกใจขึ้นมาอาจชนตู้แตกได้ครับ
จริงๆแล้วปลาโหดๆที่กล่าวมานี้ก็เป็นปลาที่นักเลี้ยงปลาโหดในบ้านเราล้วนเคยต้องผ่านมือมาบ้างแล้วครับ แต่เมื่อยามใดที่ท่านเบื่อที่จะเลี้ยงก็ขอความกรุณาอย่าเมตตามันโดยการปล่อยลงแหล่งน้ำบ้านเราเลยนะครับเพราะ อาจส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำในบ้านเราได้ครับขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่ช่วยให้ความรู้ดังนี้ครับ http://www.fishbase.org /www.monsterfishkeepers.com / www.th.wikipedia.org / www.aquaticpredators.com / www.aqua-anketa.bloger.hrและ http://www.pantown.com ลาไปก่อนครับ สวัสดี
กลับ
webdesign in 20/11/2551 by Timeforest |