TIMEFORFISH
บ้านเรา ความรู้น่าสนใจ ซื้อขายแลกเปลี่ยน กระดานสนทนา สินค้าของเรา ติดต่อเรา

 

อาหาร และ การให้อาหาร

                                    แล้วก็มาถึงบทสุดท้ายของข้อมูลที่มือใหม่ควรรู้นะครับ  นั้นคืออาหาร  กุญแจสำคัญของการเลี้ยงสัตว์น้ำให้ประสบความสำเร็จครับ    อาหารปลาและสัตว์น้ำสวยงามปัจจุบันที่พบกันโดยส่วนมากสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆครับ นั้นคืออาหารมีชีวิต  กับอาหารสำเร็จรูป ( อาหารแบบลอยน้ำ กับ อาหารแบบจมน้ำ ครับ  )

อาหารมีชีวิต 
ในที่นี้มีมากมายหลายชนิด หากแบ่งตามขนาดไล่จากเล็กไปใหญ่ ก็ คือ  ไรแดง ลูกน้ำ ไรทะเล กุ้งฝอย หนอนนก  ลูกปลาสอดเหยื่อ ลูกปลานิลเหยื่อ  ปลาทองเหยื่อ  ปลาคราฟเหยื่อ  เป็นต้น  ทั้งหมดนี้ ความจริงยังมีอีกหลายชนิดครับ  การให้อาหารมีชีวิตนั้นควรคำนึงถึงขนาดของปลาหรือสัตว์น้ำนั้นๆว่ามีปากขนาดที่ใหญ่พอที่จะกินอาหารนั้นหรือไม่  อาหารที่มีชีวิตจะมีความยุ่งยากในการเก็บรักษามากและอายุการเก็บก็ไม่ยาวนาน ดังนั้นหากต้องการความสะดวกควรหัดให้สัตว์น้ำกินอาหารสดที่ตายแล้วจะช่วยให้สะดวกยิ่งขึ้นในการให้อาหาร รวมทั้งประหยัดค่าอาหารได้อีกมาก

 

อาหารสำเร็จรูป
อาหารแบบลอยน้ำ 
เป็นอาหารปลาสัตว์น้ำที่ผ่านกระบวนการอัดเม็ดที่ผ่านความร้อนในระดัยที่พอเหมาะจนทำให้ส่วนผสมที่เป็นแป้งสุก จึงเป็นเหตุที่ทำให้สามารถลอยน้ำได้ครับ  อาหารประเภทนี้บางยี่ห้อจะมีส่วนผสมของไขมันที่สูงเพื่อช่วยในการลอยของอาหาร ดังนั้นในการเลือกซื้อจึงควรสังเกตหากอาหารที่เราซื้อมาเมื่อให้ปลาไปแล้วมีคราบมันบริเวณผิวน้ำมาก แสดงว่ามีส่วนผสมของไขมันสูงทำให้ส่งผลต่อคุณภาพน้ำได้มาก(น้ำเน่าเสียเร็วครับ)จึงควรหลีกเลี่ยง  และที่สำคัญคือควรมีการบ่งบอกคุณค่าทางอาหารที่สัตว์น้ำจะได้รับจากอาหารยี่ห้อนั้นๆด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้ออาหารให้เหมาะกับชนิดสัตว์น้ำ วัยของสัตว์น้ำและเพศของสัตว์น้ำนั้นๆครับ เช่น หากเป็นลูกสัตว์น้ำควรมีระดับโปรตีนที่ไม่ต่ำกว่า 35 % ส่วนในสัตว์น้ำที่โตเต็มที่แล้วระดับโปรตีนอาจต้องการเพียง 20-30% ขึ้นอยู่กับชนิด หากเป็นพวกสัตว์น้ำที่ชอบกินเนื้อก็จะต้องการโปรตีนสูงกว่ากลุ่มกินพืชครับ
ข้อดีของอาหารแบบลอย
- สามารถสังเกตพฤติกรรมของสัตว์น้ำได้ง่าย (แข็งแรงดีไหม กินอาหารปกติไหม)
- มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อหลายราคา ขึ้นกับคุณภาพ
- สามารถตักทิ้งได้ง่ายหากสัตว์น้ำกินไม่หมด
ข้อเสียของอาหารแบบลอยน้ำ
- เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการตายของปลาที่กินอาหารมากเกินไปแล้วอาหารไปพองในกระเพาะอาหาร(ท้องอืด) จนทำให้ปลาตาย
- พบปัญหาการลอยหลุดไปในช่องกรอง ในกรณีที่เม็ดอาหารมีขนาดเล็ก

อาหารเม็ดแบบจมน้ำ 
เป็นอาหารเม็ดที่ผ่านการอัดเม็ดโดยใช้แรงดันแต่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทำให้แป้งสุกจึงทำให้เม็ดอาหารไม่ลอยน้ำ  อาหารเม็ดแบบจมน้ำทั่วไปที่พบขายกันทั่วไปคือ อาหารกุ้งนั้นเองครับ ซึ่งคุณค่าของอาหารเม็ดแบบจมน้ำนั้นก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตของผู้ผลิตครับ  ส่วนมากอาหารเม็ดแบบจมน้ำจะมีอายุการเก็บไม่นานเนื่องจากความชื้นที่สูงกว่าแบบลอยน้ำที่ผ่านความร้อนในการอบ แต่ถึงอย่างนั้นหากท่านสนใจใช้อาหารเม็ดแบบจมน้ำก็ควรคำนึงถึงลักษณะของปลาด้วยนะครับว่าเป็นปลาแบบใด กินอาหารแบบไหนสะดวกกว่ากัน และสภาพของตู้เหมาะที่จะให้อาหารจมน้ำหรือไม่  (ตู้ที่มีหินหรือกรวดใหญ่มากรองพื้นไม่เหมาะกับอาหารจมครับ เพราะอาหารจะตกไปอยู่ที่ซอกหินและกรวดทำให้ปลากินไม่ได้ และอาจเป็นสาเหตุที่น้ำเน่าเสียครับ) แต่ข้อสำคัญน้ำหนักของอาหารเม็ดแบบจมน้ำจะหนักกว่าอาหารลอยที่ปริมาตรเท่ากัน (เนื่องจากมีมวลที่หนาแน่นกว่าครับ) 
ข้อดีของอาหารแบบจมน้ำ
- ช่วยให้ปลาที่กินอาหารก้นตู้สามารถกินอาหารได้ทัน
- ไม่ทำให้ท้องอืดเนื่องจากไม่พองน้ำครับ
- ไม่ลอยเข้าช่องกรองแต่จะอยู่ที่ก้นตู้แทน
ข้อเสียของอาหารแบบจมน้ำ
- ไม่สามารถสังเกตการกินและพฤติกรรมของสัตว์น้ำได้(ในกรณีเลี้ยงในอ่างหรือบ่อดิน)
- มีปัญหาต่อการตกแต่งตู้ด้วยกรวดและหินเนื่องจากอาหารจะจมลงไปที่ซอกกรวด
- เสียง่ายหากโดนความชื้นโดยตรง (ขึ้นรา)

หากจะใช้อาหารเม็ดแบบจมนั้นท่านควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ของอาหารให้ได้มาตรฐานที่สามารถกันความชื้นได้ครับและควรระวังการซื้ออาหารจมที่นำอาหารกุ้งมาบรรจุเองเนื่องจากไม่สามารถระบุหรือรู้ถึงวันผลิตได้เพราะบางที่ผู้ขายอาจไม่มีคุณธรรมนำอาหารที่หมดอายุมาแพ๊คขายให้ท่านก็เป็นได้ครับ และอีกข้อหนึ่งหากท่านนำอาหารแบบจมไปเลี้ยงปลาสวยงามก็ควรเลือกอาหารจมที่มีส่วนผสมของ สารสร้างเม็ดสีในปลาสวยงามที่ได้จากธรรมชาติด้วยครับ เช่น เบต้าแคโรทีน(แดง)  สไปรูลิน่า(เขียว) เป็นต้นครับ

การให้อาหารสัตว์น้ำ
ปกติการให้อาหารสัตว์น้ำนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์น้ำนั้นๆ   แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการให้อาหารอย่างเหมาะสมและไม่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียนั้นควรให้อาหารที่สัตว์น้ำนั้นไม่มากจนเกินไป(กินหมดภายใน 10 นาที) หากพบว่าสัตว์น้ำกินอาหารเหลือให้ตักออก และ ลดปริมาณอาหารในมื้อต่อไปลงจนทำให้สัตว์น้ำกินอาหารหมดพอดีครับ  ที่สำคัญอีกประการคือ หากให้อาหารมีชีวิตไม่ควรให้มากจนเกินไปเนื่องจากจะไปแย่งอ๊อกซิเจนกับสัตว์น้ำที่คุณเลี้ยง  สุดท้าย หากคุณไม่อยู่บ้าน ไม่จำเป็นที่จะต้องให้อาหารเผื่อไว้นะครับ หากไปไม่เกิน 7 วัน เนื่องจากสัตว์น้ำแม้อดอาหาร10 วันก็ไม่ตายแต่หากให้อาหารเหลือจนเกินไปน้ำจะเน่าและทำให้ตายได้ครับ  (หากสงสารจริงๆ ควรหาเครื่องให้อาหารอัตโนมัติมาใช้ครับ  ตั้งเวลาให้อาหารวันล่ะครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำจะไม่เสีย)

 

กลับ

 

webdesign in 20/11/2551 by Timeforest