TIMEFORFISH
บ้านเรา ความรู้น่าสนใจ ซื้อขายแลกเปลี่ยน กระดานสนทนา สินค้าของเรา ติดต่อเรา

 

แบคทีเรียวายร้ายหรือพระเอก   

        หลายคนที่เคยเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำต่างต้องเคยพบกับปัญหาปลาหรือสัตว์น้ำป่วย ซึ่งสาเหตุส่วนมากที่คนขายยารักษาปลาหรือสัตว์น้ำนั้นจะอ้างถึงคือติดเชื้อแบคทีเรีย    แต่แบคทีเรียโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยของสัตว์ และยังมีอีกหลายชนิดที่สร้างสมดุลย์ในร่างกายของสัตว์รวมถึงมนุษย์ด้วย  (บางชนิดไม่ก่อโรคกับสัตว์ชนิดนี้แต่พอไปอยู่กับสัตว์อีกชนิดก็ก่อให้เกิดโรคได้) 

โครงสร้างแบคทีเรียโครงสร้างแบคทีเรีย

แบคทีเรียบนโลกมีมากมายจนนับไม่ท้วน  มีทั้งที่ดี และไม่ดี  (มนุษย์เป็นผู้กำหนด) และหลายสายพันธุ์มีการกลายพันธุ์เพื่อป้องกันตนเองให้ทนทานต่อยาปฏิชีวนะที่มนุษย์คิดค้นขึ้น 
แบคทีเรีย มีรูปแบบ 3 แบบ คือ

1 แบบแท่งหรือท่อนทรงประบอก ได้แก่ พวกบาซิลลัส (Bacillus)

2 แบบกลมหรือรี ได้แก่ พวกคอกคัส (Coccus)

3 แบบโค้งงอ ได้แก่ พวกสไปริสลัม (Spirillum) เซลล์คงรูปไม่เปลี่ยนแปลง พวกสไป โรขีต (Spirochete) เซลล์ยืดหยุ่นไม่คงรูป และพวกคอมมา (Comma) เซลล์โค้งคล้ายจุดลูกน้ำ      การเรียงตัวของแบคทีเรียมีหลายแบบ เช่น
แบบ  เซลล์เดี่ยว (Micrococcus) แบบเซลล์เรียงเป็นคู่  (Diplococcus ) แบบเซลล์เรียงต่อเป็นสาย (Streptococcus )
แบบ เซลล์เป็นกลุ่มรูปร่างไม่แน่นอน  (Staphylococcus)

แกรมบวกหรือลบหมายถึง แบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive) ย้อมติดสีน้ำเงินของคริสทัลไวโอเลต (crystal violet) ส่วนแบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative) ย้อมติดสีแดงของแซฟรานิน (safranin)
แบคทีเรียสืบพันธุ์โดยการแบ่งเซลล์แบบทวีคูณ (binary fission)  หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจะสร้าง เอนโดสปอร์ (endospore)

รูปทรงแบบ coccusรูปทรงแบบ แท่งรูปทรงแบบแท่ง

แบคทีเรียมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ดังนี้
- เป็นผู้ย่อยสลาย ทำให้มีการหมุนเวียนสารในระบบนิเวศ
- ตรึงไนโตรเจนในบรรยากาศให้เป็นเกลือไนเตรตได้ เช่น Rhizobium ในปมรากพืชตระกูลถั่ว
- ผลิตสารปฏิชีวนะ (antibiotic) ใช้รักษาโรคได้
- ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ในสิ่งมีชีวิต
                 


    

สำหรับในสัตว์น้ำแบคทีเรียที่มักก่อให้เกิดโรคมักจะอยู่ในกลุ่ม

กลุ่มแกรม บวก Gram-positive coccus, aerobic  ,Beta-hemolytic Streptococcus
,Alpha-hemolytic Streptococcus,Staphylocoocus,Bacillussp.,Corynebacterium species
Erysipelotrix rhusiopathiae,Listeria monocytogenes,Norcardia sp. ,Rhodococcus equi

กลุ่มแกรมลบ Gram-negative Coliforms (เช่นEscherichia coli, Klebsiella,
Proteus และ Serratia) ,Actinobacillus sp.,Bordetella bronchiseptica
,Brucella canis,Pseudomonas aeroginosa,Pasteurella multocida
,Pasteurella haemolytica,Aeromonas hydrophila และ Vibrio sp. 

แบคทีเรีย

นี่คือตัวอย่างคร่าวๆของแบคทีเรียในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์น้ำ นะครับ อาการที่เกิดขึ้นมีมากมาย หลายแบบ อาทิเช่น หาก เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย  Aeromonas hydrophila จะส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายใน เกิดอาการช่องท้องบวมน้ำ   ตาโปน  ร่วมกับ การเนื้อเยื่อที่ถูกกร่อนกินออกไป  และหากเกิดการติดเชื้อ แบคทีเรียในสกุล  Vibrio sp. ในกุ้งหรือปลาทะเล  จะส่งผลต่อการทำงานของระบบเนื้อเยื่อที่ถูกแบคทีเรียแทรกและทำลาย  พบการเรืองแสงของสัตว์น้ำนั้นๆในเวลากลางคืนครับ  การแก้ไข ปัญหาของการติดเชื้อแบคทีเรียติดตามได้ใน การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ http://www.time4fish.net/problem.html  ครับ
รูปด้านล่าง คืออาการของปลาที่ติดเชื้อแบคทีเรียที่ไต ครับ
ส่วนอีกรูปคือรูปปลาที่ติดเชื้อแบคทีเรีย แอโรโมแนส ไฮโดรฟิล่า

โรค โรคแบคทีเรีย

ใครๆก็ว่าแบคทีเรียเป็นสิ่งร้ายๆ อ้าวแบบนี้ก็แย่สิ  หากเรามองอะไรในแง่มุมเดียว  งั้นเรามาดูหน่อยสิว่าแบคทีเรียมีดีอะไรบ้างครับ 
            สกุลของแบคทีเรียที่มีอยู่มากมายนั้น ในส่วนที่เกิดปัญหากับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง นั้นเป็นเพียงส่วนน้อย เท่านั้นโดยส่วนใหญ่เป็นมิตร และไม่ได้ส่งผลร้ายกับเรา   บางชนิดมีหน้าที่เสริมสร้างธาตุอาหารในดิน เช่นแบคทีเรียในปมรากของพืชตระกูลถั่ว  กลุ่มไรโซเบียมเป็นแบคทีเรียแกรมลบ จากการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พบว่า จะมีรูปร่างเป็นแท่งยาว (rod shape) เมื่อถูกเลี้ยงในสภาพปกติ แต่เมื่อเชื้อไรโซเบียมเข้าสู่ระบบรากของพืช จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไป โดยเชื้อไรโซเบียม ที่พบในปมรากของพืชตระกูลถั่วจะมีรูปร่างไม่แน่นอน เช่น มีรูปร่างเป็นลักษณะ X-, Y- หรือ Star-shape ไรโซเบียมที่เข้าไปอาศัยอยู่ในปมแล้วนี้จะเรียกว่า แบคทีรอยด์ (bacteroid) (Alexander, 1977)เชื้อสามารถตรึงไนโตรเจนให้กับพืชตระกูลถั่วได้ก็ต่อเมื่อเชื้อจะต้องเข้าอาศัยอยู่ร่วมกันในปมราก หรือลำต้นในภาวะพึ่งพาซึ่งกันและกัน หรือเรียกว่า symbiosis

ตามรูป ล่างคือ คือเชื้อไรโซเบียม   ส่วนอีกรูป คือ เชื้อไรโซเบียมที่อยู่ที่รากพืชตะกูลถั่ว

เชื้อไรโซเบียม ไรโซเบียมในรากพืชตระกูลถั่ว

ส่วนในมนุษย์ แบคทีเรียในกลุ่มของ Lactobacillus acidophilus แบคทีเรียที่ช่วยทำให้โปรตีนแตกตัวในลำไส้เล็ก และช่วยให้การดูดซึมอาหารดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากเชื้อโรค เนื่องจากแบคทีเรียตัวนี้จะช่วยหลั่งสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และจุลินทรีย์อื่น ๆ ... แลคโตบาซิลัสแบคทีเรียนี้เป็นตัวช่วยระบบภูมิคุ้มกัน  เราพบว่ามีการนำแบคทีเรียกลุ่มนี้มาบริโภคในรูปแบบของนมเปรี้ยวนั้นเอง ครับ
       และยังมีแบคทีเรียอีกหลายชนิดที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนแหล่งยาของมนุษย์และสัตว์เพราะแบคทีเรียกลุ่มนี้จะผลิตสารเคมีที่ต่อต้านและทำลายแบคทีเรียที่มีโทษไม่ให้เจริญเติบโตต่อไปได้ครับ  และที่สุดของความสำคัญคือประโยชน์ในการย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ เพื่อทำสสารกลับมาหมุนเวียนอยู่บนโลกนี้อย่างไม่สิ้นสุด  (หากไม่มีผู้ย่อยสลายป่านนี้โลกคงจะเต็มไปด้วยซากศพของสิ่งมีชีวิตมากมาย)

จากในรูปด้านล่าง จะแสดงให้เห็นแบคทีเรียในลำไส้ครับ มีทั้งกลุ่มดี friendly Bacteria และไม่ดี Unfriendly Bacteria
ส่วนอีกรูป เป็นภาพที่แสดงถึงกระบวนการกำจัดของเสียของแบคทีเรีย (ของเสียในรูปของสารประกอบไนโตรเจน)

แบคทีเรียที่ดีและไม่ดี

กระบวนการย่อยสลายของเสีย

สุดท้ายสำหรับผู้รักสัตว์น้ำแบคทีเรียมีส่วนในการช่วยให้ระบบย่อยสลายของเสียในระบบกรองน้ำของท่านสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะแบคทีเรียในน้ำของวัฏจักรไนโตรเจน นั้นมีส่วนช่วยให้ระบบการบำบัดน้ำเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์รวมไปถึง บางชนิดมีส่วนช่วยในการกดหรือข่มไม่ให้แบคทีเรียที่ชอบก่อให้เกิดโรคในสัตว์น้ำเจริญเติบโตได้ (เช่น Bacillus sp. เป็นต้น) 
                        สรุป แบคทีเรียนั้นไม่ใช่ผู้ร้ายในสายตาของคนทั่วไปเท่านั้น แต่โดยส่วนมากเป็นถึงฮีโร่ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด  ดังนั้นจงอย่ากลัวที่จะมีแบคทีเรียอยู่ร่วมกับคุณและสัตว์น้ำของคุณนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลที่หาเพิ่มเติมจาก
ณัฎฐา วิศิษฎ์วิทยากร.เอกสาร “ยาต้านจุลชีพกับการป้องกันรักษาโรคสัตว์น้ำ”.
http://www.nicaonline.com
รองศาสตราจารย์  หนึ่ง  เตียอำรุง.เอกสาร “แบคทีเรียตรึงไนโตรเจนเอนโดไฟต์”

 

 

 


webdesign in 20/11/2551 by Timeforest